このページの先頭ですサイトメニューここから
このページの本文へ移動
サイト内検索

  1. トップページ
  2. Legal Information for Foreign Nationals(外国人のみなさまへ)
  3. กิจการครอบครัว: การหมั้น การสมรส และการหย่า
本文ここから

กิจการครอบครัว: การหมั้น การสมรส และการหย่า

更新日:2023年4月11日

โปรดอ่านก่อนใช้บริการ

  • คำถามที่พบบ่อยเป็นการแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับระบบกฎหมายในญี่ปุ่นและไม่ได้ให้คำตอบกับคำถามที่เฉพาะเจาะจง
    นอกจากนี้ในกรณีของบางคนแล้ว ระบบกฎหมายของญี่ปุ่นอาจนำมาใช้ไม่ได้
  • หากคุณต้องการทราบว่ามีคำถามที่พบบ่อยใด ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ที่นี่หรือไม่ หรือหากคุณต้องการปรึกษาปัญหาเฉพาะของคุณ โปรดติดต่อบริการข้อมูลหลายภาษา (0570-078377) ซึ่งจะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำถามที่พบบ่อยและบริการให้คำปรึกษาตามรายละเอียดคำถามของคุณ
  • โปรดทราบว่า Houterasu ไม่สามารถรับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ ที่อาจเป็นผลมาจากการพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะบุคคลตามคำถามที่พบบ่อย

เนื้อหา

การหมั้น

การสมรส

การหย่า

ถาม01: หากฉันยกเลิกการหมั้น ฉันจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับอีกฝ่ายหรือไม่

  • หากมีเหตุผลอันควร คุณสามารถยกเลิกงานหมั้นได้โดยไม่ก่อให้เกิดความรับผิดขึ้นแต่
    อย่างใด
  • หากไม่มีเหตุผลอันควร คุณจะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่ออีกฝ่าย

(คำอธิบาย)
・หากมีเหตุที่ทำให้คู่สมรสไม่อาจมีชีวิตแต่งงานที่ราบรื่นผาสุกได้ในอนาคต และเป็นที่เข้าใจได้
ว่ามีเหตุผลอันควรที่จะยกเลิกการหมั้น ก็สามารถยกเลิกได้โดยไม่ก่อให้เกิดความรับผิดขึ้นแต่
อย่างใด
・เช่น หากฝ่ายหนึ่งโกหกอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเดือน หนี้สิน หรือเรื่องสำคัญอื่น ๆ
ในชีวิต กรณีนี้จะถือว่าเป็นเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมายที่จะยกเลิกการหมั้นได้
・หากยกเลิกการหมั้นโดยไม่มีเหตุผลอันควร ถือว่าทำผิดสัญญาและจะต้องชดเชยโดยการจ่าย
ค่าเสียหาย

00008

ถาม02: หากชาวต่างชาติสองคนที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นต้องการแต่งงาน จะต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง

  • ควรยื่นทะเบียนสมรสไปที่สำนักงานเทศบาลที่ชาวต่างชาตินั้นอาศัยอยู่
  • ต้องส่งหนังสือจดทะเบียนสมรสและยื่นเอกสารที่แสดงว่าชาวต่างชาติแต่ละรายมีสิทธิ์
    แต่งงานภายใต้กฎหมายครอบครัวของประเทศบ้านเกิดของตน (โดยทั่วไปคือหนังสือ

    รับรองสถานภาพโสด)
  • ชาวต่างชาติยังสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลของ
    ประเทศบ้านเกิดของตนเองในญี่ปุ่น เพื่อจดทะเบียนสมรสตามขั้นตอนของประเทศบ้าน
    เกิดของตน

・ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นสามารถแต่งงานในญี่ปุ่นได้โดยยื่นหนังสือขอจดทะเบียนสมรส
และเอกสารที่แสดงว่าชาวต่างชาติรายนั้น ๆ มีสิทธิ์แต่งงานได้ตามกฎหมายครอบครัวในประเทศ
บ้านเกิดของตน (โดยทั่วไปคือหนังสือรับรองสถานภาพโสด) ไปยังหน่วยทะเบียนครอบครัว
・เนื่องจากชาวต่างชาติไม่ได้มีสัญชาติญี่ปุ่น จึงไม่มีทะเบียนครอบครัว ดังนั้นการจดทะเบียน
สมรสนี้ก็จะทำให้ไม่ได้รับทะเบียนครอบครัวด้วย
・หลักฐานสมรสอาจประกอบด้วยหนังสือรับรองการตอบรับการจดทะเบียน หรือหนังสือรับรอง
เนื้อหาการจดทะเบียนก็ได้
・หากชาวต่างชาติยื่นจดทะเบียนสมรสที่สถานทูตหรือสถานกงสุลในประเทศบ้านเกิดของตนที่
ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นตามขั้นตอนของประเทศบ้านเกิดตน ก็ไม่ต้องยื่นขอจดทะเบียนที่หน่วย
ทะเบียนครอบครัวของญี่ปุ่น

00022

ถาม03: หากชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นจะแต่งงานกับคนญี่ปุ่นในญี่ปุ่น จะต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง

  • การจดทะเบียนสมรสควรไปยื่นกับสำนักงานเทศบาลซึ่งคนที่มีสัญชาติญี่ปุ่นพักอาศัยอยู่
  • หรือสำนักงานภูมิลำเนาที่จดทะเบียน
  • ต้องส่งหนังสือจดทะเบียนสมรสและยื่นเอกสารที่แสดงว่าชาวต่างชาติรายนั้น ๆ มีสิทธิ์
    แต่งงานภายใต้กฎหมายครอบครัวของประเทศบ้านเกิดของตน (โดยทั่วไปคือหนังสือ

    รับรองสถานภาพโสด)

(คำอธิบาย)
・สำนักงานเทศบาลจะเป็นผู้รับคำขอจดทะเบียน จากนั้นจะส่งไปยังเขตเทศบาลที่เป็นภูมิลำเนา
จดทะเบียนของชาวญี่ปุ่นรายดังกล่าว หลังจากที่ได้รับการยืนยันในสองข้อแล้วว่าชาวญี่ปุ่นมี
คุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดการสมรสในญี่ปุ่น และชาวต่างชาติมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดการ
สมรสในประเทศบ้านเกิดของตน
・เมื่อยื่นจดทะเบียนสมรสกับเทศบาลซึ่งคนที่มีสัญชาติญี่ปุ่นพักอาศัยอยู่ เราขอแนะนำให้แนบ
สำเนาหรือเอกสารที่คัดลอกจากทะเบียนครอบครัวของชาวญี่ปุ่นไปด้วย (หรือถ้าภูมิลำเนาจด
ทะเบียนได้บันทึกข้อมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์ ให้แนบใบรับรองข้อมูลทะเบียนครอบครัวทั้งหมดหรือ
บางส่วนไปด้วย)
・สำหรับชาวต่างชาติที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมการเข้าเมืองและการ
ยอมรับผู้ลี้ภัย กฎหมายของญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศที่เป็นสถานที่ที่ใช้พำนักจะถือเป็นกฎหมายของ
ประเทศบ้านเกิด

00023

ถาม04: ฉันเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่น และสถานะพำนักของฉันอนุญาตให้ฉันทำงานได้ ฉันจะพาครอบครัวมาอยู่ญี่ปุ่นได้ไหม

  • ครอบครัวของคุณสามารถอยู่กับคุณได้ภายใต้สถานะการพำนักผู้ติดตาม
  • สำหรับการมาเยี่ยมระยะสั้น ครอบครัวของคุณสามารถพำนักอยู่ในญี่ปุ่นได้ภายใต้สถานะ
    “นักท่องเที่ยวชั่วคราว”

(คำอธิบาย)
・ควรขอสถานะการพำนักที่สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศบ้านเกิดของผู้ยื่น
・อย่างไรก็ตาม ตามกฎแล้ว ผู้ติดตามและนักท่องเที่ยวชั่วคราวจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานใน
ประเทศญี่ปุ่น
・หากชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลานานและได้รับสถานะ “ผู้พำนักถาวร” สมาชิกใน
ครอบครัวของพวกเขาจะสามารถอยู่อย่างถาวรในฐานะ “คู่สมรสหรือบุตรของผู้พำนักถาวร” ได้

02367

ถาม05: ฉันเป็นชาวต่างชาติ และคู่สมรสของฉันเป็นชาวญี่ปุ่นฉันอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นโดยมีสถานะเป็นผู้พำนักแบบ“คู่สมรสหรือบุตรของชาวญี่ปุ่น” ถ้าฉันแยกกันอยู่กับคู่สมรสชาวญี่ปุ่นจะทำให้ฉันอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นต่อไปไม่ได้ใช่หรือไม่

  • หากพิจารณาโดยอาศัยทั้งการที่แยกกันอยู่ พร้อมกับปัจจัยพิจารณาร่วมอื่น ๆ อย่าง
    ครอบคลุมด้วยแล้วนั้นพบว่า ความสัมพันธ์ของคู่สมรสได้สิ้นสุดลง และการสมรสไม่ใช่
    พื้นฐานที่สำคัญของการมีความสัมพันธ์ทางสังคมอีกต่อไป คู่สมรสชาวต่างชาติอาจ

    สูญเสียสถานภาพการพำนักในฐานะ “คู่สมรสหรือบุตรของชาวญี่ปุ่น” ได้
  • หากคู่สมรสชาวต่างชาติประสงค์ที่จะยังคงพำนักอยู่ในญี่ปุ่นต่อไปหลังจากที่การ
    แต่งงานไม่ใช่พื้นฐานที่สำคัญของการมีความสัมพันธ์ทางสังคมอีกต่อไป ก็จะต้องเปลี่ยน
    สถานะการพำนักแบบ “คู่สมรสหรือบุตรของชาวญี่ปุ่น” ไปเป็นสถานะอื่น

(คำอธิบาย)
・ชาวต่างชาติที่แต่งงานกับคนญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมายจะได้รับสถานะแบบ “คู่สมรสหรือบุตรของ
ชาวญี่ปุ่น” อย่างไรก็ตามในกรณีที่หย่ากัน หรือหากถือว่าความสัมพันธ์ของคู่สมรสได้สิ้นสุดลง
และการสมรสไม่ใช่พื้นฐานที่สำคัญของการมีความสัมพันธ์ทางสังคมอีกต่อไป ก็จะไม่สามารถ
ขยายระยะเวลาการพำนักได้ หรือมิเช่นนั้น สถานะการพำนักจะถูกเพิกถอน
・ในการพิจารณาว่าการสมรสไม่ใช่พื้นฐานที่สำคัญของการมีความสัมพันธ์ทางสังคมอีกต่อไป
หรือไม่นั้น ไม่ได้พิจารณาจากพื้นฐานของการแยกกันอยู่เพียงอย่างเดียว แต่ยังอาศัยปัจจัย
พิจารณาอื่น ๆ อย่างครอบคลุมด้วย เช่น สถานการณ์และระยะเวลาของการแยกกันอยู่ มีการ
ติดต่อกันหรือไม่และมีขอบเขตมากน้อยเพียงใด รวมถึงการช่วยกันรับภาระค่าครองชีพระหว่างคู่
สามีภรรยา (กล่าวอีกนัยหนึ่ง “การแยกกันอยู่” ไม่ได้ตัดสินโดยใช้แค่การไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน
ตามข้อเท็จจริงเท่านั้น เนื่องจากอาจมีบางกรณีที่การแยกกันอยู่สามารถยอมรับได้ด้วยเหตุผลอัน
ชอบทางกฎหมายได้ เช่น ต้องไปอาศัยอยู่ที่อื่นเพื่อทำงาน)
・ในกรณีของการหย่าจากคู่สมรสชาวญี่ปุ่น หรือหากถือว่าความสัมพันธ์ของคู่สมรสสิ้นสุดลงและ
การสมรสไม่ใช่พื้นฐานที่สำคัญของการมีความสัมพันธ์ทางสังคมอีกต่อไป เป็นไปได้ว่า
ชาวต่างชาติจะสูญเสียสถานะผู้อาศัยแบบ “คู่สมรสหรือบุตรของชาวญี่ปุ่น” ดังนั้นหากคู่สมรส
ชาวต่างชาติประสงค์ที่จะพำนักอยู่ในญี่ปุ่นต่อไปในภายหลัง จะต้องเปลี่ยนเป็นสถานะการพำนักอื่น
(ผู้พำนักระยะยาว ฯลฯ)
・เมื่อชาวต่างชาติสูญเสียสถานะการพำนักแล้ว การจะขอรับสถานะใหม่อีกครั้งเป็นเรื่องที่ทำได้
ยากมาก หากต้องการเปลี่ยนสถานการพำนักเป็นสถานะอื่น ๆ ก็ควรดำเนินการในขณะที่มีสถานะ
เป็น “คู่สมรสหรือบุตรของชาวญี่ปุ่น”
・หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะการพำนัก ขอให้ปรึกษาทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อ
ขอรับคำแนะนำที่เหมาะสมตามแนวทางปฏิบัติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและแนวทางการ
พิจารณาคดี

00398
 

ถาม06: ฉันจะเรียกร้องค่าครองชีพจากคู่สมรสที่แยกกันอยู่ได้หรือไม่

  • สามารถทำได้

(คำอธิบาย)
・แม้ว่าคู่สามีภรรยาจะแยกกันอยู่ แต่ก็ยังต้องรับภาระดูแลกันและกันต่อไปจนกว่าการหย่าจะได้ข้อ
ยุติ
・สามารถเรียกร้องค่าครองชีพรายเดือนได้ตามหลักภาระดูแลกันและกันต่อไป โดยขึ้นอยู่กับ
รายได้และจำนวนบุตรในอุปถัมภ์ เงินส่วนนี้เรียกว่าค่าใช้จ่ายในการสมรส
・หากคู่สามีภรรยาไม่อาจตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในการสมรสได้ ก็อาจต้องยื่นคำขอต่อศาล
ครอบครัวเพื่อขอให้ช่วยประนีประนอมค่าใช้จ่ายในการสมรส โดยมีผู้พิพากษาและผู้ไกล่เกลี่ยเป็น
คนกลาง

02318

ถาม07: ฉันกำลังประสบปัญหาความรุนแรงจากคู่สมรส ฉันควรทำอย่างไรดี

  • หากคุณรู้สึกว่าตกอยู่ในอันตราย ก่อนอื่นคุณควรปรึกษาตำรวจหรือศูนย์ให้คำปรึกษา
    และช่วยเหลือด้านความรุนแรงสำหรับคู่สมรส (ศูนย์คุ้มครองสตรี ศูนย์ความเท่าเทียมทาง

    เพศ ฯลฯ โดยชื่ออาจแตกต่างกัน) เพื่อขอความช่วยเหลือ
  • จากนั้นคุณควรปรึกษาทนายความ

(คำอธิบาย)
・ความรุนแรงของคู่สมรส (ความรุนแรงในครอบครัว) เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมที่เป็นอาชญากรรมเช่นกัน
・ศูนย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือด้านความรุนแรงสำหรับคู่สมรสจะให้คำปรึกษาในการย้ายไปที่
อยู่อื่นเป็นการชั่วคราว
・ในบางกรณี เราสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งห้ามคู่สมรสไม่ให้ติดตามเหยื่อ หรือเข้าใกล้บ้าน
หรือที่ทำงานของเหยื่อ (คำสั่งห้าม) หรือออกคำสั่งให้ขับไล่คู่สมรสออกจากที่อยู่อาศัยชั่วคราว
(คำสั่งขับไล่) หรือออกคำสั่งห้ามคู่สมรสติดต่อกับบุตร หรือออกคำสั่งห้ามคู่สมรสติดต่อญาติ หรือ
คำสั่งห้ามคู่สมรสติดต่อทางโทรศัพท์ก็ได้
・ความรุนแรงยังอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการหย่าและการเรียกร้องค่าชดเชยได้
・หากคุณเคยประสบกับความรุนแรงหรือได้รับบาดเจ็บเพราะการกระทำของคู่สมรส คุณสามารถ
ยื่นคำร้องในคดีอาญาได้
・หน่วยงาน Houterasu มีบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงใน
ครอบครัวเกี่ยวกับวิธีป้องกันอันตรายเพิ่มเติม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (เป็นความช่วยเหลือด้าน
คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดต่อบุคคลนั้น ๆ (หมายถึงความ
รุนแรงโดยคู่สมรส การสะกดรอยตาม และการล่วงละเมิดเด็ก)) หากต้องการขอรับบริการนี้ โปรด
โทรไปที่ ศูนย์บริการข้อมูลที่ให้บริการในหลายภาษา หรือ Multilingual Information Service
(0570-078377)

00030

ถาม08: ฉันแต่งงานเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่ทันไรสามีฉันก็กลายเป็นคนรุนแรง ฉันรู้สึกกลัวเมื่อเขาตะคอกเสียงดังใส่ฉัน แต่ฉันไม่มีที่ไปเลยต้องจำทน และอยู่แต่ที่บ้าน

  • หากคู่สมรสทำร้ายร่างกายคุณ ควรไปโรงพยาบาลและขอรับใบรับรองแพทย์ว่าคุณมี
    บาดแผลจริง
  • หากคุณรู้สึกว่าชีวิตของคุณตกอยู่ในอันตราย ให้โทรหาตำรวจโดยด่วน
  • คุณสามารถขอรับคำปรึกษาได้จากสำนักงานเทศบาลใกล้บ้านหรือศูนย์ให้คำปรึกษา
    สำหรับสตรีในจังหวัด ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญปัญหาสตรี (เช่น ที่ปรึกษาสตรี) คอยพร้อม
    ให้บริการ หากคุณไม่ประสงค์ที่จะอยู่บ้านเดิมแล้ว ให้สอบถามที่ปรึกษาสตรีว่ามีที่พักพิง
    ชั่วคราวหรือไม่
  • หากคุณกำลังจะขอหย่า แต่ก็ถึงเวลาต้องต่ออายุสถานะการพำนักของคุณพอดีขณะ
    ดำเนินการประนีประนอมคดีหย่า ฯลฯ โปรดปรึกษาสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่าตอนนี้
    คุณกำลังอยู่ระหว่างการประนีประนอมคดีหย่าอันเนื่องมาจากความรุนแรงในครอบครัว ใน
    กรณีนี้ใบรับรองแพทย์และประวัติการปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาสตรีจะเป็นประโยชน์

03798

ถาม09: คู่สมรสของฉันได้รับคำสั่งห้ามไม่ให้ใช้ความรุนแรง แต่ฉันกังวลว่าลูก ๆ ของฉันจะถูกพรากไป ฉันควรทำอย่างไรดี

  • ตามกฎหมายป้องกันความรุนแรงในครอบครัว คุณสามารถยื่นขอคำสั่งคุ้มครองบุตรที่
    อาศัยอยู่กับผู้ได้รับความรุนแรงในครอบครัวได้ พร้อมกับคำสั่งคุ้มครองผู้เสียหายคน
    ดังกล่าวด้วย
  • หากเด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถยื่นขอคำสั่งคุ้มครองให้แก่ญาติของผู้ได้รับความ
    รุนแรงได้
  • คุณอาจสามารถยื่นขอให้ออกคำเตือนได้ตามพระราชบัญญัติป้องกันการสะกดรอยตาม
    หรือคำร้องขอให้ออกมาตรการชั่วคราวภายใต้พระราชบัญญัติการเยียวยาชั่วคราวทาง
    แพ่งได้

(คำอธิบาย)
・ชื่ออย่างเป็นทางการของพระราชบัญญัติป้องกันความรุนแรงในครอบครัวคือ “พระราชบัญญัติว่า
ด้วยการป้องกันความรุนแรงต่อคู่สมรสและการคุ้มครองเหยื่อ”
・ชื่ออย่างเป็นทางการของพระราชบัญญัติต่อต้านการสะกดรอยตามคือ “กฎหมายว่าด้วย
พฤติกรรมการสะกดรอยตามและการช่วยเหลือเหยื่อ”
・หากผู้เยาว์และเหยื่ออยู่ด้วยกัน เพื่อป้องกันมิให้เหยื่อถูกบังคับให้ไปเยี่ยมคู่สมรส (ผู้ร้าย) อัน
เป็นผลจากการที่ผู้ร้ายประสงค์จะพาตัวเด็กไปอยู่ด้วย เหยื่อสามารถยื่นขอให้ออกคำสั่งเพื่อห้ามมิ
ให้ผู้ร้ายเข้ามาเดินเตร่ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียนของเด็กหรือที่อยู่อาศัยได้ เป็นระยะเวลา
6 เดือน
・หากเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถยื่นคำสั่งห้ามเพื่อคุ้มครองเด็กได้ หากเด็กยินยอม
・พระราชบัญญัติป้องกันการสะกดรอยตามได้ให้คำนิยามพฤติกรรมการสะกดรอยตามไว้หลาย
ประการ เช่น การติดตามเหยื่อตลอดเวลา หรือเป็นผู้ที่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเหยื่อเพื่อสนอง
ความรู้สึกรักใคร่และชอบพอ และรวมถึงความรู้สึกโกรธที่เกิดจากการที่ความรู้สึกดังกล่าวไม่
สมหวัง
・สามารถออกคำเตือนภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันการสะกดรอยตามได้ โดยขอให้ไปยื่นคำร้อง
กับตำรวจ
・หากเกิดการติดตามเหยื่อหรือมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่คล้ายกัน คณะกรรมการความปลอดภัย
สาธารณะสามารถออกคำสั่งห้ามทำพฤติกรรมดังกล่าวกับเหยื่อได้หลังจากได้ดำเนินการตาม
ขั้นตอนแล้ว ในกรณีเร่งด่วน คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะอาจออกคำสั่งห้ามโดยข้าม
ขั้นตอนนี้ได้
・สามารถไปยื่นคำร้องการออกมาตรการชั่วคราวเพื่อสั่งห้ามหรือห้ามการมาเยี่ยมได้ที่ศาลตาม
พระราชบัญญัติการเยียวยาชั่วคราวทางแพ่ง
・หากจำเป็นต้องหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด โปรดปรึกษาทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ

02472

ถาม10: ขณะยังสมรสตามประเพณี (common-law marriage) หรือหลังการหย่าแล้ว ฉันสามารถขอรับการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันความรุนแรงในครอบครัวได้หรือไม่ ถ้าฉันเป็นคนต่างชาติหรือฉันเป็นผู้ชาย จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

  • คุณสามารถขอรับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติป้องกันความรุนแรงในครอบครัวได้
    แม้จะเป็นการสมรสแค่ตามประเพณี (common-law marriage) หรือแม้แต่ได้หย่าแล้ว
    หรือพ้นระยะการบอกเลิกสมรสตามประเพณีก็ตาม
    นอกจากนี้ชาวต่างชาติและผู้ชายก็มีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองด้วยเช่นกัน

(คำอธิบาย)
・แม้จะหย่าแล้ว แต่หากยังมีการใช้ความรุนแรงต่อเนื่องโดยอดีตคู่สมรส ก็สามารถใช้เป็นเหตุผล
ในการยื่นขอความคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันความรุนแรงในครอบครัวได้เช่นกัน
・ภายใต้กฎหมายนี้ คำว่า “คู่สมรส” ยังได้หมายรวมถึงผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ได้แต่งงาน
กันโดยพฤตินัย (สามีหรือภริยาตามประเพณี) คำว่า “การหย่า” หมายถึงการหย่าโดยพฤตินัย
ระหว่างบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ได้แต่งงานโดยพฤตินัยเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่สมรสแค่ตาม
ประเพณี (การแต่งงานโดยพฤตินัย) หรือผู้ที่ยุติความสัมพันธ์ดังกล่าวไปแล้ว ก็ยังคงสามารถขอรับ
การคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันความรุนแรงในครอบครัวได้ตามเดิม
・อย่างไรก็ตาม หากความรุนแรงหรือภัยอันตรายไม่ได้เกิดขึ้นขณะยังแต่งงานหรือการแต่งงาน
ตามประเพณี แต่ได้เริ่มต้นหลังหย่าหรือหลังการแต่งงานตามประเพณีสิ้นสุดลง จะนำกฎหมาย
ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวมาบังคับใช้ไม่ได้ แต่ต้องใช้ พระราชบัญญัติต่อต้านการสะกดรอย
ตามแทน
・กฎหมายว่าด้วยการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้บังคับใช้เฉพาะกับการใช้ความรุนแรง
โดยคู่สมรสหรือคู่สมรสตามประเพณีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรุนแรงของคู่สมรสที่อาศัยหรือเคย
อาศัยอยู่กับเหยื่อด้วย
・กฎหมายว่าด้วยการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวมีผลบังคับใช้โดยไม่คำนึงถึงเพศหรือ
สัญชาติของเหยื่อ ดังนั้นผู้ชายและชาวต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวก็
สามารถรับการคุ้มครองได้เช่นกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเหยื่อที่ได้ประสบกับความรุนแรงใน
ครอบครัว การสอบสวนและการพิจารณาคดีต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของเหยื่อทุกสัญชาติ พร้อม
ทั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความลับของผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วย

03136

ถาม11: เราเป็นคู่สมรสที่คนหนึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นและอีกคนเป็นชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเราทั้งคู่ตกลงที่จะหย่ากัน ดังนั้นเราจึงคิดที่จะหย่าโดยความยินยอมของสองฝ่าย และยื่นจดทะเบียนขอหย่า แต่เราควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสชาวต่างชาติอนุมัติการหย่าในญี่ปุ่นได้

  • หากประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสชาวต่างชาติยินยอมให้ทำการหย่าโดยความยินยอม
    ของสองฝ่าย ได้ การหย่าจะได้รับการอนุมัติในประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสชาวต่างชาติ
    หากยื่นขอหย่ากับสำนักงานเทศบาลที่เกี่ยวข้อง และสถานกงสุลของคู่สมรสชาวต่างชาติ
    หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่อยู่ในญี่ปุ่น
  • หากประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสชาวต่างชาติไม่ยินยอมให้ทำการหย่าโดยความ
    ยินยอมของสองฝ่าย จะต้องร้องขอต่อศาลแทนการหย่าโดยความยินยอมของสองฝ่าย
    เพื่อให้ประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสชาวต่างชาติอนุมัติการหย่าดังกล่าวด้วย

(คำอธิบาย)
・หากคู่สมรสคนใดคนหนึ่งเป็นคนสัญชาติญี่ปุ่น และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ส่วนคู่สมรส
อีกคนเป็นต่างชาติไม่ว่าจะสัญชาติอะไรก็ตาม กฎหมายของญี่ปุ่น (ซึ่งก็คือประมวลกฎหมายแพ่ง
ของญี่ปุ่น) จะถูกนำมาใช้บังคับกับการหย่า และการหย่าโดยความยินยอมของสองฝ่ายสามารถ
ดำเนินการได้โดยใช้กระบวนการของญี่ปุ่น
・อย่างไรก็ตาม หากการหย่าโดยความยินยอมของสองฝ่ายไม่ได้รับอนุญาต
ในประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสชาวต่างชาติ
อาจเกิดกรณีที่ถึงแม้ว่าการจดทะเบียนขอหย่าจะถูกส่งไปยังสำนักงานเทศบาลในญี่ปุ่นแล้วก็ตาม
แต่การหย่าจะไม่ได้รับการอนุมัติในประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสได้
แม้จะได้รับการอนุมัติในญี่ปุ่นก็ตาม
・เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ คุณจะต้องร้องขอให้ศาลเป็นผู้พิจารณา แทนที่จะใช้วิธีหย่าโดยความ
ยินยอมของสองฝ่าย
・บางประเทศอนุญาตเฉพาะการหย่าที่ต้องมีการฟ้องหย่าเท่านั้น (การหย่าโดยคำสั่งศาล)
อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้บางประเทศจะยอมรับการหย่าจากการประนีประนอมให้เป็นคดีการ
หย่าได้เช่นกัน หากเอกสารประนีประนอมการหย่าได้ระบุว่า “การประนีประนอมนี้มีผลและผลบังคับ
ใช้เช่นเดียวกันกับการพิจารณาขั้นสุดท้ายพร้อมด้วยมีผลผูกพันตามมาตรา 268 ของ
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีความสัมพันธ์ภายในประเทศญี่ปุ่น” ดังนั้นจึงแนะนำให้ตรวจสอบ
วิธีการดำเนินการในประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติ
・คุณสามารถสอบถามเกี่ยวกับระบบกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ได้โดยติดต่อไปยังสถานกงสุล
ของประเทศนั้น ๆ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ในประเทศญี่ปุ่น
・สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษากับทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ คุณอาจจำเป็นต้อง
ปรึกษาทนายความ หรือคนอื่น ๆ ในประเทศนั้น ๆ ดังนั้นเราขอแนะนำให้ถามทนายความของคุณ
หรือคนอื่น ๆ ว่าจำเป็นหรือไม่

02567

ถาม12: ถ้ากังวลว่าคู่สมรสจะฟ้องหย่าโดยที่ฉันไม่ได้ยินยอมเสียก่อน ฉันควรทำอย่างไรดี

  • คุณสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงานเทศบาลไม่ให้รับจดทะเบียนหย่าได้
  • อย่างไรก็ตาม คำขอคัดค้านการจดทะเบียนหย่าจะไม่สามารถทำได้ หากทั้งสองฝ่าย
    เป็นชาวต่างชาติ

(คำอธิบาย)
คำขอคัดค้านการจดทะเบียน เป็นระบบที่จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการจดทะเบียนสมรสอันเป็นเท็จ ฯลฯ
ซึ่งจะมีผลเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว
เพื่อมิให้เกิดการยอมรับการจดทะเบียนนั้นโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้รับรู้เสียก่อน
และบันทึกลงในทะเบียนครอบครัวอย่างไม่ถูกต้อง นี่เป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลดี
หากมีความเสี่ยงที่จะมีการจดทะเบียนการหย่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่กรณีเสียก่อน




<<ขั้นตอนโดยสังเขป>>
・คำขอนี้เป็นคำขอล่วงหน้าที่ยื่นไปยังนายกเทศมนตรีเทศบาลตามภูมิลำเนาจดทะเบียนของผู้ยื่น
เพื่อมิให้อนุมัติการลงทะเบียน เว้นแต่จะได้รับการยืนยันว่าผู้ยื่นเป็นผู้ยื่นลงทะเบียนดังกล่าวเอง
เสียก่อน
・ระบบนี้สามารถใช้ได้กับการลงทะเบียนยืนยันการเป็นบิดา การรับบุตรบุญธรรม การเลิกรับบุตร
บุญธรรม การสมรส และการหย่า ซึ่งจะมีผลเมื่อยื่นจดทะเบียน
・ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ยื่นขอเท่านั้น จึงจะสามารถยื่นคำร้องได้ เช่น บิดาในกรณียืนยัน
การเป็นบิดา หรือคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในกรณีสมรสและหย่า นอกจากนี้ยังสามารถร้องขอโดย
ระบุฝ่ายที่ไม่ควรได้รับการอนุมัติทะเบียนได้อีกด้วย
・สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานเทศบาลตามภูมิลำเนาของผู้ยื่น หรือที่สำนักงานเทศบาลตามที่
พักอาศัยจริงของผู้ยื่น
・หากมีเจ้าหน้าที่ประจำกะกลางคืนด้วย เจ้าหน้าที่ควรรับคำขอคัดค้านจากคุณด้วย แม้ว่าจะอยู่
นอกเวลาทำการสำนักงานเทศบาลก็ตาม
・เมื่อยื่นร้องขอแล้ว คำขอคัดค้านจะไม่มีวันหมดอายุจนกว่าจะถูกเพิกถอน และการลงทะเบียนที่
เกี่ยวข้องจะไม่ได้รับการอนุมัติ
・เมื่อนายกเทศมนตรีเทศบาลปฏิเสธการขอหย่า ฯลฯ ซึ่งยื่นขอมาโดยไม่มีการยินยอมจากผู้หนึ่ง
ผู้ใดเสียก่อน จะต้องมีการแจ้งเรื่องนี้ให้ผู้ที่ยื่นคำขอคัดค้านได้ทราบเสียก่อน
・สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาสอบถามที่สำนักงานเทศบาลใกล้บ้านคุณ




<<สำหรับชาวต่างชาติ>>
เนื่องจากระบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เกิดการบันทึกข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามเจตนาของคู่กร
ณีที่เกี่ยวข้องลงในทะเบียนครอบครัว
จึงไม่สามารถใช้ระบบงานนี้ได้หากทั้งสองฝ่ายเป็นชาวต่างชาติ
เนื่องจากชาวต่างชาติจะไม่มีทะเบียนครอบครัวในกรณีนี้
หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ
ผู้มีสัญชาติญี่ปุ่นจะมีทะเบียนครอบครัว และจะทำให้สามารถยื่นคำขอคัดค้านได้
ไม่ว่าผู้ยื่นจะเป็นชาวญี่ปุ่นหรือชาวต่างชาติก็ตาม

00035

ถาม13: เราแต่งงานแล้ว โดยเป็นคู่สามีภรรยาต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เราจะต้องดำเนินการเรื่องขอหย่าอย่างไร

  • หากกฎหมายของประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสเหมือนกัน และกฎหมายของประเทศ
    เหล่านั้นอนุญาตให้มีการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย การหย่าโดยความยินยอม
    ของทั้งสองฝ่ายก็สามารถทำได้ หากคู่สามีภรรยาไม่ยินยอมหย่า หรือกฎหมายของ
    ประเทศบ้านเกิดไม่ยินยอมให้มีการหย่าโดยความยินยอมของสองฝ่าย การอนุมัติให้หย่า
    จะดำเนินการโดยผ่านขั้นตอนของศาล
  • เมื่อชาวต่างชาติต้องการทำเรื่องหย่า อาจเกิดปัญหาว่าศาลญี่ปุ่นจะตัดสินใจได้หรือไม่
    แต่หากคู่สมรสอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นทั้งสองคน ศาลญี่ปุ่น (ศาลครอบครัว) สามารถ
    ประนีประนอมการหย่าหรือดำเนินการฟ้องหย่าได้

(คำอธิบาย)
<< การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย >>
・กรณีต่อไปนี้ หากคู่สมรสตกลงที่จะหย่ากันทั้งสองฝ่าย สามารถต่อรองการหย่าได้
(1) หากกฎหมายของประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสเหมือนกัน
และกฎหมายของประเทศเหล่านั้นอนุญาตให้มีการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย
(อย่างไรก็ตามในบางกรณีการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย
ควรดำเนินการตามขั้นตอนของประเทศบ้านเกิดของคู่สมรส
แทนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของประเทศญี่ปุ่น)
(2) หากกฎหมายของประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสทั้งสองคนต่างกัน
แต่คู่สมรสทั้งสองมีที่อยู่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น




<<การหย่าโดยการพิจารณาพิพากษา>>
・หากคู่สามีภรรยาตกลงกันเรื่องการหย่ากันไม่ได้ จะต้องอาศัยการดำเนินคดีในชั้นศาล
・แม้ว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายตกลงหย่ากัน แต่หากกฎหมายของประเทศบ้านเกิดไม่อนุญาตให้หย่า
โดยความยินยอมของสองฝ่าย ก็จำเป็นต้องหย่าโดยใช้กระบวนการทางศาลแทน
・นอกจากนี้แม้ในกรณีที่การหย่าโดยความยินยอมของสองฝ่ายจะถูกต้องตามกฎหมายของญี่ปุ่น
แต่ยังมีบางกรณีที่กฎหมายของประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่อนุญาตให้
มีการหย่าโดยความยินยอมของสองฝ่าย และทั้งสองฝ่ายอาจต้องหันมาใช้กระบวนการทางศาล
เพื่อให้การหย่าได้รับอนุมัติในประเทศบ้านเกิดของตน
・หากคู่สมรสทั้งสองอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น การประนีประนอมคดีหย่าหรือการฟ้องหย่าสามารถ
ดำเนินการที่ศาลญี่ปุ่นได้ (ศาลครอบครัว) แต่ก่อนเริ่มฟ้องหย่าจะต้องมีการประนีประนอมคดีหย่า
เสียก่อน (หลักการประนีประนอมยอมความก่อน) แต่ถ้าประเทศของคู่สมรสไม่อนุญาตให้มีการ
ประนีประนอมคดีหย่าได้ ก็สามารถฟ้องขอหย่าได้โดยไม่ต้องประนีประนอมก่อน
・ในบรรดาประเทศที่อนุญาตเฉพาะการหย่าที่ได้มาจากการฟ้องหย่าเท่านั้น (การหย่าโดยคำ
พิพากษา) ก็ยังมีบางประเทศที่อนุญาตให้หย่าได้โดยใช้วิธีประนีประนอมโดยเสมือนหนึ่งเป็นการ
ฟ้องหย่านั่นเอง หากเอกสารการหย่าโดยใช้วิธีประนีประนอมได้ระบุว่า “การประนีประนอมนี้มีผลใช้
บังคับโดยสมบูรณ์เช่นเดียวกันกับคำพิพากษาที่ได้ถึงที่สิ้นสุดและมีผลผูกพันตามมาตรา 268 ของ
กฎหมายวิธีพิจารณาคดีความสัมพันธ์ภายในประเทศญี่ปุ่น” ดังนั้นขอแนะนำให้ตรวจสอบ
รายละเอียดตามกฎหมายของประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสเสียก่อน
・หากกฎหมายของประเทศบ้านเกิดของคู่สมรสเหมือนกัน การพิจารณาคดีหย่าในชั้นศาลของ
ญี่ปุ่น (ศาลครอบครัว) จะตัดสินตามกฎหมายของประเทศบ้านเกิดนั้น ๆ หากกฎหมายของประเทศ
บ้านเกิดของคู่สมรสแตกต่างกัน การตัดสินใจจะอิงตามกฎหมายของญี่ปุ่น (ประมวลกฎหมายแพ่ง
ของญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นกฎหมายของประเทศที่พักอาศัย




<<ข้อควรทราบ>>
・เมื่อการหย่าได้ข้อยุติแล้ว ถึงเป็นชาวต่างชาติ ก็ยังต้องยื่นหนังสือจดทะเบียนขอหย่ากับ
สำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
・แม้ว่าจะขอหย่าในญี่ปุ่นได้ แต่ก็มีบางกรณีที่คู่กรณีจะได้ประโยชน์สูงสุดหากยอมไปขึ้นศาลของ
ประเทศนั้น ๆ แทน เพื่อจะได้สะสางปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหย่าด้วย เช่น การเลี้ยงดูบุตร
การไปเยี่ยม และการแบ่งทรัพย์สิน
・สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษากับทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ คุณอาจจำเป็นต้อง
ปรึกษาทนายความ หรือคนอื่น ๆ ในประเทศนั้น ๆ ดังนั้นเราขอแนะนำให้ถามทนายความของคุณ
หรือคนอื่น ๆ ว่าจำเป็นหรือไม่

02375

ถาม14: ฉันสามารถให้ทนายความเข้าร่วมการประนีประนอมคดีหย่าพร้อมกับฉันได้หรือไม่

  • ทนายของคุณสามารถมาพร้อมกับคุณได้

(คำอธิบาย)
・เนื่องจากลักษณะของกระบวนการประนีประนอมกฎหมายในครอบครัว บุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้อง
เข้าร่วมตามกฎ แต่หากเป็นกรณีที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ คู่กรณีอาจให้ตัวแทนมาแทนก็ได้
・หากได้รับอนุญาตจากศาล คู่กรณีอาจมีผู้ช่วยมาพร้อมกับตนด้วยก็ได้ เพื่อช่วยเหลือในการให้
การใด ๆ
・หากได้รับอนุญาตจากศาล ทุกคนสามารถเป็นตัวแทนหรือผู้ช่วยได้ แต่ศาลอาจเพิกถอนการ
อนุญาตนี้เมื่อใดก็ได้
・ทนายความอาจทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือผู้ช่วยได้โดยที่มิต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน

00047

ถาม15: กรณีที่มีการหย่า อำนาจผู้ปกครองเหนือบุตรจะเป็นอย่างไร

  • ในขณะขอหย่า หากมีบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ
    จะต้องมีผู้ปกครองคนหนึ่งได้รับอำนาจผู้ปกครอบ

(คำอธิบาย)
หากบุตรยังเป็นผู้เยาว์ จะต้องกำหนดอำนาจผู้ปกครองตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
(1) การหย่าโดยความยินยอมของสองฝ่าย
ผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งควรได้รับอำนาจผู้ปกครองตามที่ได้มีการตกลงกันพร้อมกับมีการยื่นจดทะเ
บียนหย่า แต่หากไม่สามารถตกลงเรื่องอำนาจผู้ปกครองได้
ก็จะไม่สามารถหย่าโดยใช้วิธีที่ทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมได้
และหากคู่กรณียังไม่อาจตกลงกันได้อีก
ก็อาจขอให้ศาลครอบครัวเข้ามาประนีประนอมเรื่องอำนาจผู้ปกครองได้โดยมีผู้พิพากษาและผู้ประ
นีประนอมเป็นตัวกลาง
(2) การหย่าด้วยวิธีประนีประนอม
หากศาลครอบครัวคือผู้ประนีประนอมการหย่า ศาลครอบครัวจะเป็นผู้กำหนดอำนาจผู้ปกครอง
ในการพิจารณาว่าอำนาจผู้ปกครอง จะต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็กด้วย
ทั้งอายุและระดับการพัฒนาของเด็ก
รวมทั้งอาจมีการสอบสวนโดยผู้สอบสวนในศาลครอบครัวได้ด้วยอีกเช่นกัน
วิธีประนีประนอมเป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้พูดคุยกัน ดังนั้นอาจมีบางครั้งที่ไม่อาจตกลงกันได้ ในกรณีนี้
การหย่าด้วยวิธีประนีประนอมตามปกติมักจะต้องยุติลงแบบล้มเหลว
เมื่อยุติการประนีประนอมการหย่าแล้ว
คู่กรณีสามารถดำเนินการตามกระบวนการฟ้องหย่าที่ศาลครอบครัวได้
(3) การหย่าโดยคำพิพากษา
การหย่าโดยคำพิพากษาจะมีศาลเป็นผู้กำหนดอำนาจผู้ปกครอง
หากเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป
ศาลจะต้องรับฟังความคิดเห็นของเด็กที่มีต่ออำนาจผู้ปกครองด้วยเมื่อมีการกำหนดขึ้นตามคดีหย่า

00088

ถาม16: เมื่อคู่สมรสที่ฝ่ายหนึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นและอีกฝ่ายเป็นชาวต่างชาติหย่ากัน ใครจะได้รับอำนาจผู้ปกครอง

  • ในกรณีที่พ่อหรือแม่เป็นชาวญี่ปุ่นและบุตรมีสัญชาติญี่ปุ่น อำนาจผู้ปกครองจะอิงตาม
    กฎหมายของญี่ปุ่น (ประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น)
  • ภายใต้กฎหมายของญี่ปุ่น (ประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น) เมื่อเกิดการหย่าของพ่อ
    แม่ที่มีบุตรอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุตรจะต้องอยู่ในอำนาจปกครองของพ่อหรือไม่ก็แม่
    และแม้แต่ในกรณีของการหย่า โดยความยินยอมของสองฝ่าย การจดทะเบียนหย่าจะไม่ได้
    รับการอนุมัติจนกว่าทะเบียนหย่าจะปรากฎชื่อผู้ที่ต้องเลี้ยงดูบุตร

(คำอธิบาย)
・หากคู่สามีภรรยาตกลงเรื่องการหย่าและอำนาจผู้ปกครองไม่ได้ ก็จะต้องอาศัยคำสั่งศาล หากอีก
ฝ่ายหนึ่ง (คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง) อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ก็สามารถยื่นคำร้องประนีประนอมคดีหย่าได้ที่
ศาลญี่ปุ่น (ศาลครอบครัว)
・ในกรณีที่ชาวต่างชาติเป็นคู่กรณี อาจมีปัญหาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดเป็นหลักในการ
ตัดสิน แต่ถ้าพ่อหรือแม่เป็นชาวญี่ปุ่นและบุตรมีสัญชาติญี่ปุ่น อำนาจผู้ปกครองจะตัดสินตาม
กฎหมายของญี่ปุ่น (ประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น)
・ภายใต้กฎหมายของญี่ปุ่น (ประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น) หลังจากการหย่า จะต้องมีพ่อหรือ
แม่หนึ่งคนได้รับอำนาจผู้ปกครองเหนือบุตร (อำนาจผู้ปกครองเพียงคนเดียว) ศาลจะไม่อนุญาตให้
พ่อแม่มีอำนาจผู้ปกครองทั้งคู่ (อำนาจผู้ปกครองร่วมกัน)
・ในการตัดสินใจว่าใครจะได้รับอำนาจผู้ปกครองนั้น จะพิจารณาจากหลักการว่าฝ่ายใดจะสามารถ
ให้สวัสดิการต่าง ๆ แก่บุตรได้ดีที่สุด โดยอิงตามสถานการณ์ของพ่อแม่ในหลายมิติ เช่น รายได้
ของพ่อแม่แต่ละคน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย สุขภาพและลักษณะทางกายและใจ ความรักที่มีต่อ
เด็ก ความสามารถในการดูแลบุตร ความต่อเนื่องของการดูแล ตลอดจนสภาพการณ์ของบุตร เช่น
อายุ สภาพร่างกายและจิตใจ ความต่อเนื่องของสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต และความ
ปรารถนาของบุตร
・หากการพูดคุยกันไม่อาจหาข้อสรุปได้ว่าใครจะได้รับอำนาจผู้ปกครอง อาจใช้วิธีพิจารณาแต่งตั้ง
ผู้คุ้มครอง โดยเป็นคนละคนกับผู้ปกครองที่ได้รับอำนาจปกครอง และอาจพิจารณาให้มีผู้คุ้มครอง
ที่จะดูแลและให้ความรู้แก่บุตรอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามในอนาคตอาจมีความเห็นขัดแย้งระหว่าง
ผู้ปกครองที่ได้รับอำนาจปกครองกับสถานะของผู้คุ้มครองเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูบุตรและเรื่องอื่น
ๆ และการสื่อสารกับอีกฝ่ายอาจสร้างปัญหาด้านจิตใจอย่างใหญ่หลวงก็เป็นได้ ดังนั้นโปรด
พิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ
・หลังการหย่า พ่อหรือแม่ยังคงเป็นพ่อหรือแม่ของบุตรอยู่แม้ว่าจะไม่ได้รับอำนาจผู้ปกครองก็ตาม
ควรทำข้อตกลงในการเยี่ยมและค่าเลี้ยงดูบุตรให้ชัดเจน
・สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษากับทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ

03800

ถาม17: กรณีหย่า จะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณาว่าใครจะได้อำนาจผู้ปกครองเหนือบุตร

  • การพิจารณาที่ครอบคลุมนั้นจะต้องเน้นสวัสดิภาพของบุตร แต่ก็ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน
    เนื่องจากสถานการณ์ที่แท้จริงของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และบุตรนั้นแตกต่างกันไปในแ
    ต่ละกรณี

(คำอธิบาย)
・กฎหมายไม่ได้ระบุปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการแต่งตั้งผู้ปกครองที่มีอำนาจผู้ปกครองหรือผู้
คุ้มครอง ในทางปฏิบัติ การตัดสินนั้นจะพิจารณาจากสวัสดิภาพเด็ก
・โดยเฉพาะประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวบุตร เช่น อายุ เพศ สภาพร่างกายและจิตใจ การปรับตัว
ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และความ
ต้องการของเด็ก และสถานการณ์ของพ่อแม่ เช่น ความสามารถในการเลี้ยงดูบุตร ความรักที่มีให้
บุตร รายได้ และสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต ได้รับการพิจารณาและตัดสินอย่างครอบคลุมโดย
อิงสวัสดิภาพของบุตรเป็นสำคัญ
・ต่อไปนี้คือแนวทางของการตัดสินคดีที่เคยมีมาก่อนหน้า
(1) ความต่อเนื่องของการคุ้มครอง
(2) หากบุตรเป็นทารก มารดาจะได้สิทธิ์ดูแลบุตรก่อน
(3) ความเคารพต่อการตัดสินใจของบุตร หากบุตรโตพอที่จะตัดสินใจเองได้ (โดยทั่วไปคืออายุ 15 ปี)
(4) พี่น้องที่อยู่ในอำนาจของผู้ปกครองคนเดียวกันเท่าที่จะพึงทำได้
(5) แม้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น มีชู้
แต่ก็ต้องไม่ถือเอาโดยพลการว่าฝ่ายนั้นไม่สมควรได้รับอำนาจผู้ปกครอง
・สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดปรึกษาทนายความ

04374

ถาม18: ในกรณีที่มีการหย่า สามารถขอรับค่าชดเชยในกรณีใดได้บ้าง

  • หากสาเหตุหลักของการหย่าเกิดจากการที่คู่กรณีมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
    ก็สามารถขอรับค่าชดเชยจากการหย่านี้ได้

(คำอธิบาย)
・พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในกรณีนี้ หมายถึงการกระทำที่ละเมิดต่อภาระผูกพันของชีวิตสมรส
เช่น การมีชู้ การล่วงละเมิดทั้งร่างกายหรือจิตใจ หรือการปฏิเสธความรับผิดชอบอันมีเจตนามุ่งร้าย
(เช่น การไม่ร่วมแบ่งเบาค่าครองชีพ ฯลฯ)
・แม้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ แต่หากระดับของพฤติกรรมที่ว่ายังไม่ร้ายแรง
นัก การยื่นขอค่าชดเชยก็อาจจะไม่ได้รับอนุมัติ
・หากทั้งสองฝ่ายมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ให้เปรียบเทียบกัน และฝ่ายที่มีพฤติกรรมที่ไม่พึง
ประสงค์มากกว่า จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง
・หากสาเหตุของการหย่าเป็นแค่ความแตกต่างที่ไม่อาจยอมความได้ หรือหากไม่ถือว่าอีกฝ่าย
หนึ่งแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์จริง หรือหากทั้งสองฝ่ายมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์มาก
พอกัน โดยทั่วไปการหย่าจะไม่มีการจ่ายค่าชดเชย
・สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดปรึกษาทนายความ

00067

ถาม19: ฉันสามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากผู้ที่เป็นชู้กับคู่สมรสของฉันได้ด้วยหรือไม่

  • ต่อไปนี้คือกรณีที่สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนร่วมจากทั้งคู่สมรสและผู้ที่เป็นชู้ได้
  1. หากผู้ที่เป็นชู้จงใจมีความสัมพันธ์ทางกายกับบุคคลอื่น
    ทั้งที่ทราบอยู่ก่อนแล้วว่าบุคคลดังกล่าวมีคู่สมรสอยู่แล้ว
  2. หากผู้ที่เป็นชู้บังเอิญไปมีความสัมพันธ์ทางกายกับบุคคลอื่น
    ทั้งที่หากใช้ความระมัดระวัง ก็จะทราบได้อยู่แล้วว่าบุคคลดังกล่าวมีคู่สมรสอยู่แล้ว

(คำอธิบาย)
・คำพิพากษาบรรทัดฐานอนุญาตให้เรียกร้องค่าชดเชยจากผู้ที่เป็นชู้ได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่
เป็นชู้นั้นไม่รู้ว่าคู่สมรสของคุณได้แต่งงานอยู่ก่อนแล้ว และไม่ประมาทเลินเล่อในการทราบความ
จริงดังกล่าวนี้ ผู้ที่เป็นชู้ก็ไม่ต้องรับผิดในการต้องจ่ายค่าเสียหายแต่อย่างใด
・ตามกฎหมายปกติแล้ว หากชีวิตสมรสได้ยุติลงแล้วในขณะที่เกิดการมีชู้ขึ้น ก็จะไม่มีการชดเชย
ให้แต่อย่างใด หากคู่สามีภรรยาไม่ได้หย่าแม้จะทราบแล้วว่าได้เกิดการนอกใจขึ้นจริง ก็อาจตัดสิน
ได้ว่าชีวิตสมรสนั้นยังไม่ได้ยุติลงและไม่เกิดความเสียหายขั้นร้ายแรง
・ขอแนะนำให้ปรึกษาทนายความ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักฐานที่จำเป็นในคดีการมีชู้
และการรับรู้การมีชู้

00071

ถาม20: หลังจากที่ได้หย่าแล้ว ฉันสามารถร้องขอค่าครองชีพได้หรือไม่

  • หากทั้งสองฝ่ายได้มีข้อตกลงกันไว้ หรือหากมีคำพิพากษา ก็สามารถยื่นคำร้องตามนั้นได้
    แต่หากไม่มี หลังจากได้หย่าไปแล้ว
    คุณจะไม่สามารถยื่นร้องขอค่าครองชีพจากอดีตคู่สมรสในภายหลังได้

(คำอธิบาย)
・แม้ว่าได้หย่าไปแล้วก็ตาม แต่หากบุตรจำเป็นต้องได้รับการส่งเสีย ทั้งพ่อและแม่ก็จะต้องช่วยกัน
รับภาระค่าเลี้ยงดูบุตร และผู้เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรอาจขอค่าเลี้ยงดูบุตรจากอีกฝ่ายหนึ่งได้
・ในทางกลับกัน เนื่องจากภาระหน้าที่ส่งเสียบุตรของคู่สมรสทั้งสองได้สิ้นสุดลงเมื่อเกิดการหย่า
จึงไม่อาจเรียกร้องขอค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลจากอดีตคู่สมรสได้
・ขณะดำเนินการขอหย่า ปัญหาด้านการเงินระหว่างคู่สมรสมักจะได้รับการยุติโดยใช้วิธีการแบ่ง
ทรัพย์สิน ค่าชดเชย และบำเหน็จบำนาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแบ่งทรัพย์สิน อาจมีการปรับ
จำนวนเงินล่วงหน้าเพื่อให้สะท้อนถึงค่าครองชีพภายหลังหย่าได้ แต่ไม่จัดว่าเป็นจุดประสงค์หลัก
ของการแบ่งทรัพย์สิน ดังนั้นแม้ว่าจะมีการฟ้องศาล ก็มักจะไม่มีผลต่อการพิจารณา อาจมีข้อยกเว้น
พิเศษได้บ้าง เช่น ระยะเวลาที่ใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นสาเหตุของการหย่าหรือไม่
ความผิดนั้นมากน้อยเพียงใด รายได้ของทั้งสอง และฝ่ายหนึ่งมีใครเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพหรือไม่
ดังนั้นจริง ๆ แล้วการได้รับค่าครองชีพจากอีกฝ่ายจึงเป็นเรื่องยาก เว้นแต่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันไว้
อยู่ก่อนแล้ว

00073

ถาม21: ฉันได้หย่าเมื่อ 2-3 ปีก่อน ฉันสามารถขอรับค่าชดเชยจากอดีตคู่สมรสได้หรือไม่

  • คุณยื่นขอค่าชดเชยได้ภายใน 3 ปีนับตั้งแต่วันที่คดีหย่าได้ข้อยุติ

(คำอธิบาย)
・ในกรณีหย่า จะจ่ายค่าชดเชยเพื่อเป็นค่าเสียความรู้สึกซึ่งเกิดจากการที่ต้องหย่าเพราะอีกฝ่าย
เป็นฝ่ายผิดก่อน (เช่น การมีชู้) สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวถือเป็น “สิทธิเรียกร้อง
ค่าเสียหายจากการละเมิด” ตามกฎหมาย
・โดยหลักการแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเมิดจะหมดอายุตามอายุความหลังจาก 3
ปี นับจากเวลาที่เหยื่อหรือตัวแทนทางกฎหมายได้ทราบถึงความเสียหายและผู้ทำผิด
・สำหรับค่าชดเชยการหย่า เมื่อคดีหย่าได้ข้อยุติ ให้ถือว่าได้ทราบถึง “ความเสียหายและผู้ทำผิด”
แล้ว
・นอกจากนี้ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับการกระทำอันไม่พึงประสงค์ของบุคคลขณะ
สมรสจะสิ้นสุดลงตามอายุความ นับจาก เวลาที่เกิดความผิดนั้นไปแล้ว 3 ปี อย่างไรก็ตาม หากชีวิต
หรือสวัสดิภาพทางร่างกายของผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของ
คู่กรณี เช่น การบาดเจ็บที่เกิดจากความรุนแรงที่อดีตคู่สมรสได้กระทำขณะสมรส ก็สามารถ
เรียกร้องค่าชดเชยได้ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากเวลาที่เกิดความผิดนั้นขึ้น
・สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดปรึกษาทนายความ




[แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง (กฎหมายหนี้)]
・คำอธิบายข้างต้นอ้างอิงจากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่ง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีผล
บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2020 เป็นต้นมา
・โปรดทราบว่าข้อกำหนดที่ประกาศใช้ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมนี้อาจมีผลบังคับใช้ได้เช่นกัน ใน
กรณีที่มีการละเมิดก่อนวันที่บังคับใช้

00069

ถาม22: การแบ่งทรัพย์สินหมายถึงอะไร

  • โดยทั่วไปการแบ่งทรัพย์สินในกรณีของการหย่าจะหมายถึง
    การกระจายทรัพย์สินซึ่งได้เคยร่วมกันหามาขณะมีชีวิตสมรสด้วยกันของคู่สมรสทั้งสองฝ่
    ายอย่างเท่าเทียมกัน

(คำอธิบาย)
・หากคู่สมรสมีทรัพย์สินร่วมกันขณะสมรส ก็สามารถเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์สินได้ แม้ว่า
ทรัพย์สินนั้นจะถือในนามตนเองหรืออีกฝ่ายก็ตาม
・ทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการร่วมกันหามาได้ของคู่สมรส (ทรัพย์สินแยกต่างหาก) เช่น
ทรัพย์สินที่ได้จากการรับมรดก หรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วก่อนแต่งงาน จะไม่ถูกแบ่งให้คู่สมรส
・หากคู่กรณีไม่สามารถบรรลุข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินร่วมกันได้ ก็อาจมีการยื่นคำร้องต่อศาล
ครอบครัวเพื่อขอประนีประนอม โดยมีผู้พิพากษาและผู้ประนีประนอมเป็นตัวกลาง
・หากคู่สามีภรรยายังไม่ได้หย่า ปกติแล้วการขอแบ่งทรัพย์สินมักจะดำเนินไปพร้อมกับ
กระบวนการประนีประนอมการหย่า แต่หากการประนีประนอมยุติปัญหาไม่สำเร็จ ก็มักจะมีการฟ้อง
หย่าและเรียกร้องพร้อมกันไปเลย มากกว่าจะแยกคำขอแบ่งทรัพย์สินออกมาเป็นคดีเฉพาะ
・ค่าชดเชยและค่าใช้จ่ายในการสมรสที่ยังไม่ได้ชำระอาจนำมาพิจารณาร่วมด้วยได้ในการแบ่ง
ทรัพย์สิน
・ตามประมวลกฎหมายแพ่ง ไม่สามารถดำเนินการคำขอแบ่งทรัพย์สินได้ หากได้หย่าแล้วนาน
กว่า 2 ปี

00072

ถาม23: ถึงจะหย่าไปแล้ว แต่ฉันยังร้องขอให้แบ่งทรัพย์สินได้อยู่อีกหรือไม่

  • ถึงจะหย่าไปแล้ว แต่คุณจะยังสามารถร้องขอให้แบ่งทรัพย์สินได้ภายในระยะเวลาหนึ่ง

(คำอธิบาย)
・ไม่สามารถดำเนินการขอแบ่งทรัพย์สินได้หลังจากหย่าไปแล้วเกิน 2 ปี
・หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมจ่ายเงินเพื่อแบ่งทรัพย์สิน ก็อาจมีการยื่นขอต่อศาลครอบครัวให้
ประนีประนอมยุติปัญหาได้ โดยมีผู้พิพากษาและผู้ประนีประนอมเป็นตัวกลาง
・แม้ว่าได้หย่าไปแล้วเกิน 2 ปี แต่คุณก็ยังสามารถตกลงเพื่อให้มีการจ่ายเงินเพื่อแบ่งทรัพย์สินกับ
อีกฝ่ายนอกศาลได้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่มีอำนาจของศาลครอบครัวแล้ว คุณก็อาจจะไม่ได้รับ
ทรัพย์สินใด ๆ หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมเจรจาต่อรองด้วย
・หากเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนการหย่าโดยเป็นคนละส่วนกับการแบ่งทรัพย์สิน ตามกฎทั่วไป
แล้วสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้หลังหย่าแล้วไม่เกินระยะเวลา 3 ปี
・สำหรับกรณีที่เฉพาะเจาะจง ขอแนะนำให้ปรึกษากับทนายความ

00074

ถาม24: หากฉันเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ให้คู่สมรส ฉันจะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหลังหย่าแล้วหรือไม่

  • ความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันยังคงอยู่แม้ได้หย่าไปแล้ว

(คำอธิบาย)
・ผู้ค้ำประกันมีหน้าที่ล้างหนี้ (ชำระหนี้) ในนามของลูกหนี้หลัก (เช่น ผู้ที่ได้ยืมเงินไป) ถ้าหากว่า
ลูกหนี้หลักไม่ชำระหนี้ (ไม่คืนเงินที่ยืมมา) ให้กับเจ้าหนี้ (ผู้ปล่อยกู้เงินนั้น) ความรับผิดนี้เป็นไป
ตามสัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ค้ำประกันและเจ้าหนี้
・แม้จะแต่งงานแล้ว แต่คู่สามีภรรยาจะถือว่าเป็นคนละคนกัน และสามารถทำสัญญาได้อย่างอิสระ
ตามกฎหมาย โดยแต่ละคนมีความรับผิดแยกกันภายใต้สัญญาดังกล่าว
・ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่คู่สมรสจะหลีกเลี่ยงความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันด้วยเหตุผลแค่ได้หย่า
กับคู่สมรสที่เป็นลูกหนี้หลักไปแล้ว
・หากฝ่ายใดประสงค์ที่จะบอกเลิกการเป็นผู้ค้ำประกัน จะต้องเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอยกเลิก
สัญญาค้ำประกัน ในกรณีเช่นนี้ อาจมีการขอให้เจรจากับลูกหนี้หลักและสับเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกัน
หรือให้จำนำอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินหรืออาคาร) เป็นหลักประกัน
・สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดปรึกษาทนายความ

02187

ถาม25: สามารถแบ่งเงินบำนาญในกรณีขอหย่าได้หรือไม่

  • เงินบำนาญพนักงาน (บำนาญสวัสดิการ บำนาญช่วยเหลือร่วมกัน ฯลฯ)
    ต้องดำเนินการตามระบบแบ่งบำเหน็จบำนาญ

(คำอธิบาย)
・ในกรณีการหย่า เงินบำนาญของพนักงาน (บำนาญสวัสดิการ บำนาญช่วยเหลือร่วมกัน ฯลฯ)
สามารถยื่นคำร้องขอแบ่งได้ (การแบ่งบำนาญสำหรับระยะเวลาที่สมรสกัน) แต่แผนบำเหน็จ
บำนาญแห่งชาติ (หรือบำนาญขั้นพื้นฐาน) ไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบแบ่งบำนาญ
・หากคู่สามีภรรยาหย่ากันในหรือหลังวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2008 เงินบำนาญสำหรับระยะเวลา
ที่สมรสกันในหรือหลังวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่คู่สมรสคนใดคนหนึ่งยังอยู่ใน
ความคุ้มครองตามหมวดที่ 3 จะสามารถแบ่งได้หากว่ามีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งร้องขอเท่านั้น (ตามหมวด
ที่ 3) สำหรับเงินบำนาญในส่วนอื่น ๆ ทั้งหมดจะถูกแบ่งตามข้อตกลงระหว่างคู่สามีภรรยา (แบ่ง
ตามความยินยอมร่วมกัน) หากคู่สามีภรรยามีปัญหาในการเจรจาข้อตกลง ก็สามารถใช้กระบวนการ
ประนีประนอมที่ศาลครอบครัวได้
・หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มได้รับเงินบำนาญแล้วในขณะที่ดำเนินการขอหย่า เงินบำนาญที่ได้รับ
มาแล้วนั้นจะไม่สามารถแบ่งได้ (ทั้งเงินสดหรือเงินออม) อย่างไรก็ตามอาจสามารถขอแบ่ง
ทรัพย์สินได้ แต่ต้องเป็นคนละส่วนกับระบบขอแบ่งบำนาญ
・หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อสำนักบริการบำนาญญี่ปุ่น หรือสมาคมให้ความช่วยเหลือ
ร่วมที่เกี่ยวข้อง หรือ Promotion and Mutual Aid Corporation for Private Schools of Japan
(Mutual Aid Division) หรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เช่น ทนายความ เป็นต้น

00111

サブナビゲーションここから

Legal Information for Foreign Nationals(外国人のみなさまへ)


以下フッタです
ページの先頭へ